วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

โขน


        

โขน

                เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทย มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการเล่นโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทางเข้ากับเสียงซอและเครื่องดนตรีอื่นๆ ผู้เต้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ  โขนเป็นที่รวมของ ศิลปะหลายแขนงคือ โขนนำวิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ โขนนำท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำท่าเต้นมาจากกระบี่กระบอง และโขนนำศิลปะการพากย์การเจรจา หน้าพาทย์เพลงดนตรี การแสดงโขน ผู้แสดงสวมศีรษะคือหัวโขน ปิดหน้าหมด ยกเว้น เทวดา มนุษย์ และมเหสี ธิดาพระยายักษ์  มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้และมีคนพากย์และเจรจาให้ด้วย  เรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ  ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์
 ประเภทของโขนแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
 ๑ โขนกลางแปลง
 ๒  โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว
 ๓  โขนหน้าจอ
 ๔  โขนโรงใน
 ๕  โขนฉาก



           ๑. โขนกลางแปลง คือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่น นิยมแสดงตอนยกทัพรบกัน โขนกลางแปลงได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เรื่องกวนน้ำอมฤต เรื่องมีอยู่ว่า เทวดาและอสูรใคร่จะเป็นอมตะ จึงไปทูลพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงแนะนำให้กวนน้ำอมฤต โดยใช้เขามนทคิรีเป็นไม้กวน เอาพระยาวาสุกรีเป็นเชือกพันรอบเขา เทวดาชักทางหาง หมุนเขาไปมา พระยาวาสุกรีพ่นพิษออกมา  พระนารายณ์เชิญให้ พระอิศวรดื่มพิษนั้นเสีย พระอิศวรจึงมีศอสีนิลเพราะพิษไหม้  ครั้นกวนต่อไป เขามนทคิรีทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคิรีไว้  ครั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกันจนเกิดสงคราม พระนารายณ์จึงนำน้ำอมฤตไปเสีย พวกอสูรไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงเป็นใหญ่ในสวรรค์  พระ นารายณ์เมื่อได้น้ำอมฤตไปแล้ว ก็แบ่งน้ำอมฤตให้เทวดาและอสูรดื่ม พระนารายณ์แปลงเป็นนางงามรินน้ำอมฤตให้เทวดา แต่รินน้ำธรรมดาให้อสูร  ฝ่ายราหูเป็นพี่น้องกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่ราหูเป็อสูร  ราหู เห็นเทวดาสดชื่นแข็งแรงเมื่อได้ดื่มน้ำอมฤต แต่อสูรยังคงอ่อนเพลียอยู่ เห็นผิดสังเกต จึงแปลงเป็นเทวดาไปปะปนอยู่ในหมู่เทวดา จึงพลอยได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย  พระอาทิตย์และพระจันทร์ จึงแอบบอกพระนารายณ์ พระนารายณ์โกรธมากที่ราหูตบตาพระองค์ จึงขว้างจักรไปตัดกลางตัวราหู ร่างกายท่อนบนได้รับน้ำอมฤตก็เป็นอมตะ แต่ร่างกายท่อนล่างตายไป  ราหูจึงเป็นยักษ์มีกายครึ่งท่อน  ราหูโกรธและอาฆาตพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก พบที่ไหนก็อมทันที  เกิดเป็นราหูอมจันทร์หรือจันทรคราสและสุริยคราส  ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ามาเทศนาให้ราหูเลิกพยาบาทจองเวร ราหูจึงได้คลายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ออก
        การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เล่นในพิธีอินทราภิเษก มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา  โขนกลาง แปลงนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพ การเต้นประกอบหน้าพาทย์ มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์ และเล่นตอนฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามยกทัพรบกัน  จึงมีการเต้นประกอบหน้าพาทย์ และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้างแต่ไม่มีบทร้อง


หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑
นาฏศิลป์พื้นบ้านภาคกลาง
      
                   เป็นศิลปะการร่ายรำและการละเล่นของชนชาวพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม ศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถี      ชีวิตและพื่อความบันเทิงสนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน หรือเมื่อเสร็จจากเทศการฤดูเก็บเก็บเกี่ยว เช่น
     
๑.ระบำชาวนา
     
                  ผู้แต่งทำนองเพลงนี้คือ ครูมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ ส่วนท่ารำนั้นท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้คิดและออกแบบท่ารำ 
เครื่องแต่งกาย
                 ตัวละครนั้นจะเป็นชาวบ้านทั้งหญิงและชาย  จะเป็นแต่งชุดม่อฮ่อม ซึ่งเป็นชุดที่เรียบง่าย
ไม่หรูหรา เป็นชุดพื้นบ้าน ที่เห็นแล้วจะจะทำให้รู้ได้เลยว่าการแสดงชุดนี้ต้องเกี่ยวกับการทำนา
     การแสดงระบำชาวนา เป็นการแสดงที่ไม่มีการขับร้อง ไม่มีเนื้อเพลง มีเพียงดนตรี ประกอบจังหวะซึ่งเป็นดนตรีที่มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
ฉาก อุปกรณ์
               อุปกรณ์ที่ใช้จะเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำนาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงการเกี่ยวข้าว ฉะนั้นอุปกรณ์ที่ใช้จึงได้แก่ เมล็ดข้าว เคียวเกี่ยวข้าว รวงข้าง กระด้ง เป็นต้น
ดนตรีที่ใช้ประกอบ
             ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองยาว กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง ดนตรีจะมีจังหวะที่สนุกสนานเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และให้หายเหนื่อยจากการทำนา
ท่าทางสื่อความหมาย
            ท่ารำจะเป็นท่าที่สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา  เป็นขั้นตอนการทำนาตั้งแต่เริ่มหว่านข้าว ไถนา เกี่ยวข้าว ฝัดข้าว เป็นต้น
                                          
                                           ๒.รำเถิดเทิงกลองยาว

                         เป็นการแสดงนาฏศิลป์ที่ใช้กลองยาวหลายใบพร้อมทั้งเครื่องตีที่ใช้ประกอบจังหวะได้แก่ ฉิ่ง กรับ โหม่ง และ ฉาบเคาะจังหวะประกอบเสียงกลองยาวท่าทางร่ายรำจะมีหลายท่า จึงจำเป็นที่ผู้ฝึกหัดให้มีความชำนาญจึงจะแสดงเข้ากับจังหวะได้ดี เชื่อกันว่ารำกลองยาวมีถิ่นกำเนิดมาจากชนบท ต่อมากรมศิลปากรได้นำมาปรับปรุงและประดิษฐ์ท่ารำและจังหวะกลองให้สอดคล้องและกลมกลืน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย 
โอกาสและวิธีการเล่น
                     นิยมเล่นกันในงานตรุษ งานสงกรานต์ หรืองานแห่แหน ซึ่งต้อง เดินเคลื่อนขบวน เช่น ในงานแห่นาค แห่พระ และแห่กฐิน เป็นต้น คนดูคนใดรู้สึกสนุกจะเข้าไป รำด้วยก็ได้ เพราะเป็นการเล่นอย่างชาวบ้าน เคลื่อนไปกับขบวน พอถึงที่ตรงไหนมีลานกว้างหรือเหมาะก็หยุดตั้งวงเล่นกันก่อนพักหนึ่งแล้วเคลื่อนไปต่อ การเล่นเถิดเทิงกรมศิลปากรปรับปรุงใหม่ กำหนดให้มีแบบแผนลีลาท่ารำ โดยกำหนดให้มีกลองรำ กลองยืนด้วย
                                กลองรำ หมายถึง ผู้ที่แสดงลวดลายในการร่ายรำ กลองยืน หมายถึง ผู้ตีกลองยืนให้จังหวะในการรำ การเล่นเถิดเทิงแบบนี้มีมาตรฐานตายตัว ผู้เล่นทั้งหมดต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อน คนดูจะได้เห็นความงามและความสนุกสนานแม้จะไม่ได้ร่วมเล่นด้วยก็ตาม จำนวนผู้แสดงแบบนี้จะมีเป็นชุด คือ พวกตีเครื่องประกอบจังหวะ คนตีกลองยืน คนตีกลองรำ และผู้หญิงที่รำล่อ พวกตีประกอบจังหวะ จะร้องประกอบเร่งเร้าอารมณ์ให้สนุกสนานในขณะที่ตีด้วย เช่น
 “
มาแล้วโหวย มาแล้ววา มาแต่ของเขา ของเราไม่มา ตะละล้า
 “
ต้อนเข้าไว้ ต้อนเขาไว้ เอาไปบ้านเรา พ่อก็แก่แม่ก็เฒ่าเอาไปหุงข้าวให้พวกเรากินตะละล้า
 “
ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว ใครมีลูกสาว มาแลกลูกเขย เอาวะ เอาเหวย ลูกเขยกลองยาว ตะละล้า
                      ที่เรียกการเล่นประเภทนี้ว่า เถิดเทิง เทิงบ้องนั้น คงเรียกกันตามเสียงกลองยาว กล่าวคือมีเสียงเมื่อเริ่มตีเป็นจังหวะ หูคนไทยได้ยินเป็นว่า เถิด เทิง บ้อง เทิง บ้องเลยเรียกตามเสียงที่ได้ยินว่าเถิดเทิง หรือเทิงบ้องกลองยาวตามกันไป เพื่อให้ต่างกับการเล่นอื่น
ผู้เล่น 
              ในตอนแรกผู้ร่ายรำใช้ทั้งชายและหญิง ต่อมาเปลี่ยนเป็นใช้ผู้หญิงเป็นผู้ร่ายรำเท่านั้น ส่วนผู้ชายทำหน้าที่ตีกลองยาว และเครื่องดนตรีประกอบ ในตอนแรกมีผู้เล่นทั้งหมด 16 คน โดยมีผู้ตีกลองยืน 3 คน และผู้ตีเครื่องดนตรีประกอบได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฆ้อง อีก 5 คน สำหรับผู้รำมี 4 คู่ 8 คน มีผู้รำคนหนึ่งเป็นหัวหน้า คล้องนกหวีดไว้ที่คอสำหรับเป่าเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนท่ารำ ในตอนหลังมีการเพิ่มเครื่องดนตรี เช่น กลองอเมริกันและปี่ชวาขึ้น และเพิ่มความครึกครื้น ก็เพิ่มผู้ร่ายรำเข้าไปอีก