โขน
เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทย
มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของลา ลูแบร์
ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการเล่นโขนว่า
เป็นการเต้นออกท่าทางเข้ากับเสียงซอและเครื่องดนตรีอื่นๆ
ผู้เต้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ โขนเป็นที่รวมของ ศิลปะหลายแขนงคือ
โขนนำวิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์
โขนนำท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำท่าเต้นมาจากกระบี่กระบอง
และโขนนำศิลปะการพากย์การเจรจา หน้าพาทย์เพลงดนตรี การแสดงโขน ผู้แสดงสวมศีรษะคือหัวโขน
ปิดหน้าหมด ยกเว้น เทวดา มนุษย์ และมเหสี ธิดาพระยายักษ์
มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้และมีคนพากย์และเจรจาให้ด้วย
เรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์
ประเภทของโขนแบ่งออกเป็น
๕ ประเภท คือ
๑ โขนกลางแปลง
๒ โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว
๓ โขนหน้าจอ
๔ โขนโรงใน
๕ โขนฉาก
๑. โขนกลางแปลง คือ
การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่น นิยมแสดงตอนยกทัพรบกัน
โขนกลางแปลงได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เรื่องกวนน้ำอมฤต
เรื่องมีอยู่ว่า เทวดาและอสูรใคร่จะเป็นอมตะ จึงไปทูลพระนารายณ์
พระนารายณ์จึงแนะนำให้กวนน้ำอมฤต โดยใช้เขามนทคิรีเป็นไม้กวน
เอาพระยาวาสุกรีเป็นเชือกพันรอบเขา เทวดาชักทางหาง หมุนเขาไปมา
พระยาวาสุกรีพ่นพิษออกมา พระนารายณ์เชิญให้
พระอิศวรดื่มพิษนั้นเสีย พระอิศวรจึงมีศอสีนิลเพราะพิษไหม้ ครั้นกวนต่อไป
เขามนทคิรีทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคิรีไว้
ครั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกันจนเกิดสงคราม
พระนารายณ์จึงนำน้ำอมฤตไปเสีย พวกอสูรไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก
เทวดาจึงเป็นใหญ่ในสวรรค์ พระ
นารายณ์เมื่อได้น้ำอมฤตไปแล้ว ก็แบ่งน้ำอมฤตให้เทวดาและอสูรดื่ม พระนารายณ์แปลงเป็นนางงามรินน้ำอมฤตให้เทวดา
แต่รินน้ำธรรมดาให้อสูร ฝ่ายราหูเป็นพี่น้องกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่ราหูเป็อสูร
ราหู เห็นเทวดาสดชื่นแข็งแรงเมื่อได้ดื่มน้ำอมฤต แต่อสูรยังคงอ่อนเพลียอยู่
เห็นผิดสังเกต จึงแปลงเป็นเทวดาไปปะปนอยู่ในหมู่เทวดา จึงพลอยได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย
พระอาทิตย์และพระจันทร์ จึงแอบบอกพระนารายณ์
พระนารายณ์โกรธมากที่ราหูตบตาพระองค์ จึงขว้างจักรไปตัดกลางตัวราหู
ร่างกายท่อนบนได้รับน้ำอมฤตก็เป็นอมตะ แต่ร่างกายท่อนล่างตายไป ราหูจึงเป็นยักษ์มีกายครึ่งท่อน ราหูโกรธและอาฆาตพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก
พบที่ไหนก็อมทันที เกิดเป็นราหูอมจันทร์หรือจันทรคราสและสุริยคราส ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ามาเทศนาให้ราหูเลิกพยาบาทจองเวร
ราหูจึงได้คลายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ออก
การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์
เล่นในพิธีอินทราภิเษก มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โขนกลาง
แปลงนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพ การเต้นประกอบหน้าพาทย์
มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์
และเล่นตอนฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามยกทัพรบกัน จึงมีการเต้นประกอบหน้าพาทย์
และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้างแต่ไม่มีบทร้อง